“SCB EIC” คาดส่งออกไทยปี 68 ร่วง -0.4% เหตุสงครามการค้ากระทบหนัก
SCB EIC คาดส่งออกไทยปี 68 ร่วงติดลบ 0.4% เหตุสงครามการค้ากระทบหนัก ขณะที่ครึ่งปีหลังจะมีแรงกดดันและความไม่แน่นอนที่รุนแรงมากขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่ามูลค่าส่งออกไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จะขยายตัวดี โดยตัวเลขมูลค่าการส่งออกไตรมาส 1 ขยายตัวมากถึง 15.2% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะชะลอตัวลงมาก เพราะหลายแรงส่งสำคัญจะแผ่วลง โดยเฉพาะการเร่งสั่งซื้อของคู่ค้า ก่อนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผล อานิสงส์วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และปัจจัยการส่งออกทองคำ รวมถึงปัจจัยการส่งออกทองคำผสมโลหะอื่นไปอินเดีย
โดยการส่งออกช่วงปลายไตรมาส 2 จะเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 10% (Universal tariff) กับเกือบทุกประเทศคู่ค้าทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว
รวมถึงประกาศเก็บสินค้าเฉพาะเจาะจง (Specific tariffs) รายประเทศ/รายสินค้าหลายรายการ เช่น สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม สินค้ายานยนต์ เก็บเพิ่ม 25% จากคู่ค้าเกือบทุกประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ จะประกาศเลื่อนกำหนดเก็บภาษีตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariffs) ออกไป 90 วัน แต่จีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญสุดของไทย ก็ถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ไปสูงมากถึง 125% และหากรวมภาษีเฉพาะเจาะจงรายประเทศ 20% บนข้อกล่าวหา Fentanly จีนจะถูกเก็บภาษีตอบโต้รวมสูงถึง 145%)
SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเผชิญปัจจัยกดดันและความไม่แน่นอนที่รุนแรงมากขึ้น มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวรุนแรง โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเสี่ยงหดตัวเหลือ -0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6% จากตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน ,มุมมองมี.ค.68 โดยมีสาเหตุหลัก ประกอบด้วย
- อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ของสหรัฐฯ สูงและกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่เคยคาดไว้ ในช่วงต้นปี SCB EIC ประเมินว่านโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะไม่สุดโต่งมากนัก อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจจะไม่สูงมาก และมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างจำกัด โดยอัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริง (Effective Tariff Rate : ETR) ของสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นราว 11.3% อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าทั้งหมดที่ประกาศไว้ จะมีผลทำให้ ETR ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% สูงกว่าที่ประเมินไว้เกือบเท่าตัว
- นโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์ จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลก มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตเพียง 2.2% (เทียบ 2.7% ในปี 67 และ 2.8% ในปี 66) และโลกมีความเสี่ยงราว 35-50% ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) นอกจากนี้ ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอลงรุนแรงเช่นกัน องค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการปริมาณการค้าโลกปี 68 ลงจากการประเมินครั้งก่อนเหลือ -0.2% และ 1.7% (เดิม 2.7% และ 3.2%)
- ไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงสูง เนื่องจากพึ่งตลาดสหรัฐฯ และเสี่ยงอัตราภาษีนำเข้าตอบโต้สูง โดยสหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 67 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 62 หรือมีสัดส่วน 10% ของ GDP ซึ่งค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ ไทยอาจโดนภาษีนำเข้าตอบโต้จากสหรัฐฯ สูงถึง 36% สูงกว่าอัตราค่าเฉลี่ยทั่วโลก เอเชีย และอาเซียนที่ 17% 23% และ 33% ตามลำดับ การส่งออกไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงสูง ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1) Substitution effect : สหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ไทยสูงถึง 36% ขณะที่ประเทศต่าง ๆ โดนอัตราภาษีน้อยกว่ามาก ส่วนใหญ่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10% จึงอาจทำให้สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า
2) Income effect : สหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าจากไทยและคู่ค้าอื่น ๆ น้อยลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงมากจากนโยบายกำแพงภาษีของตัวเอง
- ผลกระทบทางอ้อมอาจรุนแรงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการแข่งขันนอกตลาดสหรัฐฯ อาจรุนแรงขึ้น ทำให้การส่งออกไทยอาจชะลอตัวลงได้ด้วย จาก 1.ความต้องการสินค้าขั้นปลายของไทย ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค 2.ความต้องการสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง จากการผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง 3.การแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญปัญหาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่มาก ต้องระบายสินค้าขายตลาดอื่นมากขึ้น 4.บางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง
- ตลาดส่งออกหลักอื่นของไทยค่อนข้างกระจุกตัวในประเทศที่อาจถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้สูง โดย SCB EIC พบว่า 12 ใน 15 ตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย คิดเป็น 73.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไม่รวมสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะถูกกำแพงภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกในอัตรา 17% การส่งออกไทยไปยังตลาดหลักอื่น ๆ กลุ่มนี้อาจลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจประเทศที่อาจชะลอลงด้วย
- ปัจจัยหนุนตั้งแต่ต้นปีจะทยอยหมดลง เช่น การเร่งผลิตและส่งออกก่อนสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีจริง อานิสงส์วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ปัจจัยการส่งออกทองคำจากความกังวลในช่วงความไม่แน่นอนนโยบายการค้าสูง และประเด็นพิเศษทองคำผสม
แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ